Thai Wedding Ceremony
ลำดับพิธีการแต่งงานแบบไทย
สำหรับบ่าวสาวสมัยใหม่หลายคู่คงจะไม่ทราบเกี่ยวกับลำดับพิธีการแต่งงานแบบไทย ที่มีมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อคุณแม่ยังสาว เนื่องจากสมัยนี้คนรุ่นใหม่หันไปให้ความสนใจงานแต่งงานแบบสากลกันเยอะ จึงทำให้พิธีการเหล่านี้อาจถูกลืมเลือนไปได้ อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ยังหลงเหลือคู่ที่ปรารถนาจะแต่งงานแบบพิธีไทย วันนี้เราจึงรวบรวมลำดับการจัดงานแต่งงานตามประเพณีไทยแบบรวบรัดมาให้ศึกษากัน:
พิธีการตั้งขบวนขันหมาก แห่ขันหมากและรับขันหมาก:
ประเพณีการจัดเตรียมขันหมากสำหรับการแห่ขบวนขันหมากในงานแต่งงานพิธีไทย จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ ซึ่งประกอบไปด้วย “ขันหมากเอก” และ ”ขันหมากโท” เมื่อตั้งขบวนแห่ขันหมากเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นิยมเป็นอย่างมากนั่นก็คือ วงกลองยาวที่ร้องรำหน้าขบวนอย่างสนุกสนาน เพื่อช่วยสร้างสีสันและความครื้นเครงให้กับงานแต่งงาน ตามด้วยขบวนขันหมากเอกและโท จนถึงเรือนฝ่ายเจ้าสาว ซึ่งจะมีเด็กผู้หญิงแต่งตัวสวยงามถือพานหมากเชิญที่จัดเป็นจำนวนคู่ไว้ต้อนรับ
พิธีกั้นประตู:
เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข และสนุกของเพื่อน และญาติฝ่ายเจ้าสาว นั่นก็คือการกั้นประตูนาก ประตูเงิน และประตูทองขวางขบวนขันหมากไม่ให้เข้าไปในเรือนเจ้าสาว เพื่อเรียกค่าผ่านทางจากฝ่ายเจ้าบ่าวนั่นเอง ซึ่งจะใช้คนสองคนถือสายสร้อยทอง สร้อยเงิน หรือสร้อยมุขคนละด้าน ฝ่ายชายจะต้องทำการเจรจา อาจจะเป็นการให้ของขวัญ โดยส่วนใหญ่จะนิยมแจกซองใส่เงินเพื่อขอผ่านทาง ส่วนใหญ่มูลค่าของขวัญมักจะต้องสูงขึ้นตามลำดับ ผู้กั้นมักจะได้ซองเงินเยอะที่สุด เมื่อถึงด่านกั้นสุดท้ายคือหน้าประตูห้องที่ฝ่ายเจ้าสาว
พิธีนับสินสอด:
หลังจากฝ่ายเจ้าสาวรับขบวนขันหมากเข้าเรือน พิธีการต่อไปคือการนำพานขันหมากทั้งหมดมาจัดวางเรียงกัน เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเจ้าสาวจะทำการนับสินสอดทองหมั้นที่ฝ่ายเจ้าบ่าวจัดมาให้ ซึ่งพิธีนับสินสอดนั้นจะกระทำต่อหน้าสักขีพยานของทั้งสองฝ่าย โดยจัดวางอยู่บนผ้าแดง หรือผ้าเงินผ้าทอง และทำทีเป็นนับตามธรรมเนียม ตามประเพณีโบราณนั้นจะใส่เกินจำนวนเพื่อถือเคล็ดว่าคู่บ่าวสาวอยู่ด้วยต่อไปเรื่อยๆ และมีเงินทองงอกเงย ก่อนที่จะห่อสินสอดด้วยผ้านั้น ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะต้องช่วยกันโรยถั่วเขียว งาดำ ข้าวตอก ดอกไม้ ข้าวเปลือก ใบเงินใบทองที่บรรจุมาในพานขันหมากเอก คลุกเคล้ากับสินสอด จากนั้นแม่ของฝ่ายเจ้าสาวจะต้องยกขึ้นพาดบ่า และนำไปเก็บรักษาตามประเพณี
พิธีรับไหว้:
บ่าวสาว จะยกพาน ที่ประกอบไปด้วยธูปเทียนแพเข้าไปกราบพ่อแม่ ถือเป็นการฝากเนื้อฝากตัว และแสดงความเคารพต่อผู้ใหญ่ด้วยการกราบ 3 ครั้ง เมื่อก้มกราบแล้วจึงส่งพานธูปเทียนให้กับผู้ใหญ่ จากนั้นท่านจะรับไหว้ด้วยซองเงิน หรือของมีค่าอย่างอื่นลงบนพานไว้สำหรับเป็นเงินทุนในการสร้างครอบครัว รวมถึงอาจมีการผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือ พร้อมคำอวยพรให้รักกันยืนยาวแก่คู่บ่าวสาวอีกด้วย
การสวมมงคล และการเจิมหน้าผาก:
เมื่อถึงเวลาอันสมควร หรือฤกษ์งามยามดี คู่บ่าวสาวจะจุดเทียนเพื่อกราบบูชาพระศรีรัตนตรัยที่หน้าแท่น จากนั้นไปนั่งบนตั่งเคียงคู่กัน โดยเจ้าบ่าวจะนั่งทางขวามือ และเจ้าสาวต้องนั่งทางด้านซ้ายมือเสมอ หลังจากนั้นประธานในพิธีจะทำการคล้องพวงมาลัย สวมมงคลแฝดบนศีรษะของบ่าวสาว พร้อมเจิมหน้าผากด้วยแป้งเจิม ซึ่งเป็นของที่ผ่านพิธีมงคลมาเรียบร้อย
พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์(น้ำสังข์) และประสาทพร:
หลังจากนั้นจะเป็นพิธีการรดน้ำสังข์ ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมรดลงบนมือที่มีพานดอกไม้รองรับอยู่ โดยจะให้ประธานเป็นผู้รดเป็นคนแรก จากนั้นจึงเป็นพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย และผู้มาร่วมงานที่เป็นผู้ใหญ่ พร้อมทั้งให้ศีลให้พรขณะรดน้ำไปด้วย ส่วนคิวต่อๆ ไปมักจะเรียงตามลำดับอาวุโส นอกจากนี้ผู้รดน้ำสังข์ที่มีอายุน้อยกว่า รุ่นเดียวกัน หรือยังไม่ได้ออกเรือน จะไม่นิยมให้กล่าวคำอวยพรแก่คู่บ่าวสาว
พิธีปูที่นอน และการส่งตัว:
ถือเป็นพิธีการสำคัญในช่วงสุดท้ายของพิธีการแต่งงานแบบไทยเลยก็ว่าได้ จะมีการเชิญผู้ใหญ่คู่สามีภรรยา ที่แต่งงานแล้วมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุขสมบูรณ์ ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน และมีลูกหลานสืบสกุลที่เป็นคนดี เพื่อถือเคล็ดให้คู่บ่าวสาวมีชีวิตคู่ที่ดีเช่นเดียวกัน โดยผู้ใหญ่ที่ทำพิธีต้องอาบน้ำให้สะอาดแต่งตัวเรียบร้อยสวยงาม แล้วจึงเข้ามาในห้องหอเพื่อจัดเรียงหมอน 2 ใบ และปัดที่นอนพอเป็นพิธี จากนั้นจัดวางข้าวของประกอบพิธี ซึ่งประกอบไปด้วย ฟักเขียว หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข หินบดยาหรือหินก้อนเส้า หมายถึงความหนักแน่น แมวคราว(แมวตัวผู้ที่มีอายุมากแล้ว) หมายถึงการอยู่กับเย้าเฝ้ากับเรือน พานใส่ถุงข้าวเปลือก งา ถั่วทองหรือถั่วเขียว ทั้งหมดนี้ล้วนหมายถึงการเจริญงอกงามที่ดี ดอกไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล อย่างดอกรักหรือดอกบานไม่รู้โรย และสุดท้ายคือขันใส่น้ำฝน ไว้เป็นความเย็น สดชื่นชุ่มฉ่ำ จากนั้นจึงให้ผู้ใหญ่ทั้งคู่นอนลงบนเตียงนั้น ฝ่ายหญิงจะนอนทางซ้าย ฝ่ายชายนอนลงทางขวา และกล่าวถ้อยคำอวยพรที่เป็นมงคลต่อชีวิตคู่
ส่วนพิธีการส่งตัวนั้น ผู้ใหญ่จะพาเจ้าสาวมาส่งตัวเข้าหอ ซึ่งเจ้าบ่าวจะรออยู่ในห้องหอก่อนแล้ว โดยคู่บ่าวสาวจะต้องกราบพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายตัวเองเพื่อเป็นการขอพร และเมื่อพาเจ้าสาวเข้ามาในห้องแล้ว แม่เจ้าสาวต้องเป็นคนพามามอบให้กับเจ้าบ่าว พร้อมพูดจาฝากฝังให้ช่วยดูแลลูกสาวด้วย หลังจากนั้นจะเป็นการให้โอวาทเกี่ยวกับเรื่องการครองเรือน และการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน แล้วจึงออกมาจากห้องหอ
พิธีแต่งงานของประเทศต่างๆ
หนุ่มๆสาวๆ สมัยนี้ต่างใฝ่ฝันอยากแต่งงาน และมีชีวิตคู่ร่วมกับชาวต่างชาติกันเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นเราจึงได้เตรียมพิธีการงานแต่งงานจาก 4 ชาติมาเป็นตัวอย่าง เผื่อมีใครคิดจะแต่งงานกับชาวต่างชาติ และอยากแต่งในแบบพิธีของเขา
พิธีการแต่งงานแบบเกาหลี: คู่บ่าวสาวจะสวมใส่ชุดแต่งงานแบบฮันบก ซึ่งเป็นชุดประจำชาติของเกาหลี โดยที่แก้มของเจ้าสาวนั้นจะมีการวาดจุด หรือติดสติกเกอร์จุดสีแดงๆ ให้ดูน่ารักสดใสและบริสุทธิ์ จะมีธรรมเนียมที่ผู้ใหญ่ในงานจะโยนผลอินทผลัม และเม็ดเกาลัด ซึ่งบ่าวสาวจะต้องใช้ผ้าคอยรับให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้คู่บ่าวสาวยังต้องใช้ปากป้อนเม็ดเกาลัดและอินทผลัมให้กันอีกด้วย ต่อจากนั้นเจ้าบ่าวจะต้องให้เจ้าสาวขี่คอ หรือขี่หลัง และเดินวน 3 รอบ
พิธีการแต่งงานแบบฝรั่งเศส: โดยทั่วไปงานแต่งงานของฝรั่งเศสจะเน้นสีขาวเป็นหลักเพื่อสื่อถึงความบริสุทธิ์ ซึ่งภายในจะอบอวลไปด้วยเครื่องหอม และกลิ่นหอมของดอกไม้ต่างๆ นอกจากนี้แขกเหรื่อผู้มาร่วมงานจะผลัดเวียนกันนำดอกไม้มามอบให้แก่คู่บ่าวสาว เปรียบเสมือนการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สดใสดั่งดอกไม้แรกแย้ม สุดท้ายคู่บ่าวสาวจะร่วมดื่มอวยพรจากแก้วใบพิเศษ ที่มีหูจับอยู่สองข้าง เพื่อสื่อถึงการเริ่มต้นการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ร่วมกัน ในที่นี้แก้วใบพิเศษนี้จะถูกเก็บไว้สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน
พิธีการแต่งงานแบบญี่ปุ่น: พิธีดั้งเดิมจะเรียกว่า “พิธีแต่งงานแบบชินโต” ซึ่งนิยมจัดในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และในเดือนมิถุนายน เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความเชื่อว่าหากได้แต่งงานในเดือนมิถุนายนแล้วจะมีแต่ความสุข โดยคู่บ่าวสาวต้องสวมชุดของวัฒนธรรมชินโต เจ้าสาวต้องสวมใส่ชุดกิโมโนสีขาว เกล้าผมขึ้นตึงสวมทับด้วยหมวก หรือผ้าคลุมผม และใส่รองเท้าเกี๊ยะ ในวันงานแต่งงาน คู่แต่งงานจะต้องจิบสาเกจากถ้วย 3 ใบ ใบละ 3 ครั้ง และหลังจากจิบแล้วทั้งคู่จะต้องวางถ้วยลงบนโต๊ะพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นเคล็ดให้บ่าวสาวอยู่คู่เคียงกันตลอดไป
พิธีแต่งงานแบบเยอรมัน: ชาวเยอรมันจะมีความเชื่อว่าให้เจ้าสาวสะสมเหรียญสตางค์ไว้ซื้อรองเท้าสำหรับสวมเข้าพิธีแต่งงาน นอกจากนี้ยังให้ว่าทีเจ้าสาว กับเพื่อนๆ ของเธอร่วมกันปาถ้วยชามใส่ประตูหน้าบ้านในวันงานเลี้ยงฉลองสละโสด เพื่อขับไล่วิญญาณร้ายให้ออกไป จากนั้นให้เจ้าสาวเก็บเศษกระเบี้ยงที่แตก ถือเป็นเคล็ดให้โชคดี
****************************************
ให้เราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในวันสำคัญของคุณ:
เยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์ งานแต่งงาน ของโรงแรมฯ หรือติดต่อ
คุณนันทนัช ตั้งทวีธรรม
โทร:02 247 0123 ต่อ 1803
catering@sukosolhotels.com